7 มิถุนายน 2567
                   นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง นายแพทย์สินชัย รองเดช ประธานพิธีปิดการอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน รุ่นที่ 10 กล่าวรายงานโดย ดร.ดวงใจ เปลี่ยนบำรุง ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง ณ ห้องประไพพิศ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง
                    วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง ได้ดำเนินการจัดอบรม พัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพื่อตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหาสุขภาพการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเป็นภาวะคุกคามชีวิตของผู้ป่วยอย่างมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที พยาบาลผู้ให้การดูแลช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะเฉพาะทางในการประเมินภาวะสุขภาพ วินิจฉัยปัญหา วางแผนการรักษาเบื้องต้นที่ถูกต้องและแม่นยำ พร้อมทั้งสามารถให้การพยาบาล ได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียอวัยวะหรือความพิการ และป้องกันอันตรายอันถึงแก่ถึงชีวิต
                     วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนกร่วมกับ โรงพยาบาลตรัง ได้จัดการอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน รุ่นที่ 10 ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ – 7 มิถุนายน 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับการสั่งการหน่วยบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน การประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในสถานพยาบาลและหน่วยงานในชุมชน เพื่อการดูแลผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน ทั้งในและนอกโรงพยาบาล รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยระหว่างการส่งต่อ และสามารถระบุผลลัพธ์การพยาบาลเวชปฏิบัติที่มีผลต่อภาวะสุขภาพของผู้ป่วยฉุกเฉินและระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และการพัฒนาคุณภาพของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
                    ในครั้งนี้ มีผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้นจำนวน 48 คน โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สภาการพยาบาล โรงพยาบาลตรัง, โรงพยาบาลพัทลุง, โรงพยาบาลสงขลา, โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, โรงพยาบาลฉลอง, โรงพยาบาลระนอง, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะแพทยศาสตร์วชิระพยาบาล, มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ), สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ สำหรับการฝึกภาคปฏิบัติ ได้รับการสนับสนุนจาก โรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาล ย่านตาขาว โรงพยาบาลนาโยง โรงพยาบาลกันตัง โรงพยาบาลห้วยยอด โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลรัตภูมิ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลระโนด โรงพยาบาลพัทลุง โรงพยาบาลควนขนุน โรงพยาบาลป่าพะยอม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลฉลอง โรงพยาบาลถลาง ศูนย์สั่งการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และศูนย์สั่งการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง วิทยาลัยฯ และคณะกรรมการจัดการฝึกอบรมฯ ขอขอบคุณหน่วยงาน วิทยากร ตลอดจนอาจารย์พี่เลี้ยงในแหล่งฝึกภาคปฏิบัติทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้